“เสริมประชาคมพลังงาน สานพลังพลเมือง”

          เพื่อนร่วมงานข่ายประชาสังคมที่รัก

          ระหว่างนี้กลุ่มประสานงานเครือข่ายของเราส่วนหนึ่งจากทุกจังหวัด กำลังเตรียมการจัดประชุมเวทีประชาคมพลังงานจังหวัด เป็นครั้งแรก โดยจะมีขึ้นแบบดาวกระจายทั่วประเทศในช่วงเดือนมีนาคมที่จะถึง

          ภารกิจครั้งนี้ ด้านหนึ่งเป็นการสนับสนุนงานของสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน(สกพ.) ในกระบวนการสรรหาคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต (คพข.) ให้ได้ครบทั้ง 13 เขต เพื่อเป็นกลไกคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้ใช้พลังงาน

ในขณะเดียวกันก็เป็นการถักทอกลุ่มพลเมืองผู้ใช้พลังงานเพื่อก่อตัวเป็นประชาคมพลังงานจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนเครือข่ายการมีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายสาธารณะด้านพลังงานและเฝ้าระวังปัญหาผลกระทบจากกิจการพลังงานไปพร้อมกัน

           พูดถึง พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ซึ่งออกในสมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นับเป็นกฎหมายฉบับหนึ่งที่มีความก้าวหน้าในเชิงแนวคิดและกลไกส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยส่วนตัวผมถือเป็นผลงานโบว์แดงเทียบเท่า พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ 2550, พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน 2551, พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย 2551 และพ.ร.บ.สภาพัฒนาการเมือง 2551 เลย
          ที่สำคัญกฎหมายฉบับนี้ได้แยกอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย ออกจากการกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงาน โดยส่วนแรกยังคงให้กระทรวงพลังงานรับผิดชอบ ส่วนหลังให้เป็นบทบาทของหน่วยงานอิสระคือคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) โดยมีสำนักงาน สกพ.เป็นหน่วยงานปฏิบัติ และ สกพ.เป็นหน่วยงานรัฐที่ไม่ใช่ราชการ จึงมีความคล่องตัวในการทำงานกับภาคประชาชน
          ในการกำกับดูแล สกพ.มีบทบาทสำคัญทั้งในด้านคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้ใช้พลังงาน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนโยบายพลังงาน รวมทั้งการบริหารจัดการกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ซึ่งมีแหล่งที่มาของรายได้จากค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการโรงไฟฟ้า เพื่อฟื้นฟูและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบโดยรอบที่ตั้งโรงไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า (กองทุนรอบโรงไฟฟ้า) มีอยู่ 75 แห่ง ใน 39 จังหวัด และมีรายได้รวมเฉลี่ย 150 ล้านบาท/เดือน หรือปีละ 1,800 ล้านบาท
          ส่วนแรกทำหน้าที่คล้ายสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) หรือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ส่วนที่สองเหมือนสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สป.) หรือสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) ส่วนที่สามซึ่งเป็นกองทุนนั้นเทียบเคียงได้กับกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติ(สสส.) หรือกองทุนพัฒนาการเมือง(กพม.)
          เป็น 3 อย่างของการสนับสนุนความเข้มแข็งของภาคประชาชนที่รวมอยู่ในสกพ. คือ “Three in One” เลยทีเดียว
          และน่าชื่นชมอีกว่าทั้ง 3 ภารกิจนี้ ล้วนใช้แนวคิดแนวทาง “ชุมชนท้องถิ่น” มาประยุกต์ กล่าวคือ ด้านการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ กฎหมายนี้ได้ออกแบบโครงสร้างให้มี คพข. กระจายอยู่ในพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งสคบ.และกสม.ไม่มี ด้านการมีส่วนร่วมกระบวนการพัฒนานโยบายก็มีประชาคมพลังงานจังหวัดและคณะทำงานประสานงานอยู่ทุกพื้นที่ ซึ่ง สป.และ สช.ยังทำไม่ได้   และด้านกองทุนสนับสนุนภาคประชาชนนั้นก็มีกองทุนกระจายอยู่ในทุกจังหวัดที่ตั้งโรงไฟฟ้า ซึ่ง กองทุนสสส.และ กพม.ไม่มีแนวคิดก้าวหน้าขนาดนี้
          เพื่อนร่วมงานที่รักครับ
          ด้วยเหตุที่เป็นพรบ.ที่มีลักษณะก้าวหน้าเช่นนี้ แอลดีไอ(สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา) ของเราจึงมีความยินดีอย่างยิ่งเมื่อ สกพ.ร้องขอให้เข้ามาช่วยดำเนินกระบวนการออกแบบและจัดการก่อตั้ง คพข.และประชาคมพลังงานจังหวัดทั่วประเทศ
          ทั้งยังถูกขอให้เป็นที่ปรึกษาและเป็นพี่เลี้ยง ให้กับ สกพ. คพข. และเครือข่ายทางสังคมเหล่านี้ต่อไปจนเกิดความมั่นคงและพึ่งตนเองได้อีกด้วย
          น่าจะเป็นข้อดีที่แอลดีไอมีสถานภาพที่เป็นอิสระ (Independent) และทำงานส่งเสริมสนับสนุนองค์กรสาธารณะต่างๆ ในแนวทางสายกลาง (Middle Path) จึงมีสถาบัน องค์กร และหน่วยงานระดับชาติมาขอให้ช่วยทำนั่นทำนี่อยู่เนื่องๆ ทำให้มีโอกาสมองเห็นกระแสแนวโน้มงานการมีส่วนร่วมที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อยุทธศาสตร์ภาคประชาสังคมไปในวันข้างหน้าอยู่เสมอ
          ยกตัวอย่างเช่น ประเด็น “การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค”
 
          “สิทธิผู้บริโภค” เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวประชาชนและกระทบใจคนได้ง่าย เพราะทุกคนต่างซื้อสินค้าและใช้บริการจากภาคเอกชนกันอยู่ทุกวัน การทำงานเพื่อประโยชน์ผู้บริโภคจึงมีแรงต้านน้อย หน่วยงานรัฐสนับสนุนงบประมาณได้ง่าย การออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องมักได้รับแรงหนุน
          เปรียบเทียบกับ “สิทธิชุมชน” และ “สิทธิมนุษยชน” ซึ่งเป็นประเด็นในเชิงนามธรรมและคนทั่วไปที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจะเข้าใจและมีสำนึกร่วมได้ยากกว่ามาก
          ดังนั้นประเด็น “สิทธิผู้บริโภค” จึงเหมาะในการขับเคลื่อนการเมืองภาคพลเมืองเพื่อสร้างกระแสสังคม และความเข้มแข็งในระดับเครือข่ายได้มากกว่าประเด็นอื่นๆ ประชาธิปไตยที่กินได้ในเมืองไทยจึงมักเป็นประชาธิปไตยที่ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค การพัฒนาคุณภาพชีวิต การดูแลสิ่งแวดล้อม เมืองน่าอยู่ ความปลอดภัยในชีวิต ฯลฯ
          ขณะนี้มีขบวนที่ขับเคลื่อนประเด็น “สิทธิผู้บริโภค” อยู่อย่างน้อย 4 ขบวน ได้แก่
·    เครือข่ายศูนย์รับเรื่องร้องเรียนจากบริการสุขภาพ ที่มีสำนักงานหลักประกันสุขภาพ(สปสช.) เป็นแม่งาน
·    เครือข่ายคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคด้านโทรคมนาคม ที่มีสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคด้านโทรคมนาคม(สบท.) ภายใต้กทช.เป็นแม่งาน
·         เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค(ทั่วไป) ที่มีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและ สคบ.เป็นแกนกลาง
·    เครือข่ายคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต(คพข.) และประชาคมพลังงานจังหวัดที่มี สกพ.เป็นแม่งาน
ซึ่งแต่ละขบวนต่างคนต่างทำโดยมีภารกิจขององค์กรแม่ข่ายเป็นตัวตั้ง
โดยที่ลักษณะภารกิจของทุกขบวนนั้นมีลักษณะที่ร่วมกันอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภารกิจในการเฝ้าระวัง และปกป้องคุ้มครองสิทธิของประชาชนพลเมืองในฐานะของผู้บริโภคสินค้าและบริการ
ดังนั้นในอนาคต การร่วมมือกันเป็นภาคีเพื่อบูรณาการภารกิจโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง และลงขันกันทำงานสนับสนุนบทบาทการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างมีประสิทธิผล น่าจะส่งผลให้การเมืองภาคพลเมืองโดยรวมมีความเข้มแข็งและเติบโตอย่างก้าวกระโดด
เพื่อนร่วมงานที่รักครับ ความสำเร็จของการขับเคลื่อนเวทีประชาคมพลังงานจังหวัดครั้งแรกนี้จึงมีความหมายมาก ต่อจังหวะก้าวการบูรณาการภารกิจและสนธิกำลังระหว่างขบวนทั้ง 4 ข้างต้น
          ผมจึงอยากขอย้ำต่อทุกจังหวัดว่า เราต้องการคนที่มีคุณภาพสูงเพื่อเข้ามาขันอาสาเป็น คพข. 143 คน(11 คน 13 เขต) และคณะทำงานประชาคมพลังงานจังหวัด 760 คน (10 คน 76 จังหวัด) ตามโครงสร้างที่ สกพ. และแอลดีไอร่วมกันออกแบบไว้
          ขอให้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่เพื่อบรรลุเป้าหมายภารกิจ ทั้งในเชิงประมาณและคุณภาพ
          เพราะความสำเร็จหรือล้มเหลวของปฏิบัติการครั้งนี้ สำคัญอย่างยิ่งต่อยุทธศาสตร์ขั้นต่อไปในการเสริมสร้างพลังพลเมืองครับ !
ที่นี่ LDI
พลเดช ปิ่นประทีป
1 กุมภาพันธ์ 2553

Be the first to comment on "“เสริมประชาคมพลังงาน สานพลังพลเมือง”"

Leave a comment

Your email address will not be published.